AI ที่เราเรียกกันหรือได้ยินกันจากสื่อต่างๆที่พูดถึงกันมากขึ้น จริงๆแล้วมันคืออะไร แล้วเจ้า AI นี้ มาจากไหน ทำอะไรได้บ้าง
AI นั้นย่อมาจาก Artificial Intelligence แปลตามตัวก็คือ ปัญญาประดิษฐ์ เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งจริงๆแล้ว AI ก็คือ Software หรือ โปรแกรม ที่เกี่ยวข้องกับวิธีการทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถคล้ายมนุษย์หรือเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ เช่นคิดเองได้ จดจำพฤติกรรม และโต้ตอบ หรือมีปัญญานั่นเอง โดยปัญญานี้มนุษย์เป็นผู้สร้างให้คอมพิวเตอร์ จึงเรียกว่า ปัญญาประดิษฐ์
ประวัติ AI
แนวคิดเรื่องเครื่องจักรที่คิดได้และสิ่งมีชีวิตเทียมนั้นมีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ เช่นหุ่นยนต์ทาลอสแห่งครีต อันเป็นหุ่นยนต์ทองแดงของเทพฮิฟีสตัส แหล่งอารยธรรมใหญ่ ๆ ของโลกมักจะเชื่อเรื่องหุ่นยนต์ที่มีความคล้ายกับมนุษย์ เช่น ในอียิปต์และกรีซ ต่อมา ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 และ 20 สิ่งมีชีวิตเทียมเริ่มปรากฏอย่างแพร่หลายในนิยายวิทยาศาสตร์ เช่น แฟรงเกนสไตน์ของแมรี เชลลีย์ หรือ R.U.R.ของกาเรล ชาเปก แนวคิดเหล่านี้ผ่านการอภิปรายมาอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในแง่ของความหวัง ความกลัว หรือความกังวลด้านศีลธรรมเนื่องจากการมีอยู่ของปัญญาประดิษฐ์ ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ wikipedia
ในคริสต์ทศวรรษ 1990 และช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ปัญญาประดิษฐ์ประสบความสำเร็จอย่างสูงแม้ว่าจะมีหลายอย่างที่อยู่เบื้องหลัง มีการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในด้านการขนส่ง การทำเหมืองข้อมูลการวินิจฉัยทางการแพทย์ และในอีกหลายสาขาหลายอุตสาหกรรม ความสำเร็จของปัญญาประดิษฐ์นั้นได้รับการผลักดันมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเรื่องของความเร็วของคอมพิวเตอร์ที่มีการประมวลผลที่เร็วขึ้น (ตามกฎของมัวร์) การให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาย่อยบางปัญหา การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างปัญญาประดิษฐ์กับสาขาอื่น ๆ ที่ทำงานอยู่กับปัญญาที่คล้าย ๆ กัน ตลอดจนความมุ่งมั่นของนักวิจัยที่ใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่มีหลักการ
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1997 เครื่องดีปบลูของบริษัทไอบีเอ็ม กลายมาเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกที่สามารถเล่นหมากรุกเอาชนะ แกรี คาสปารอฟ แชมป์โลกในขณะนั้นได้ และในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 เครื่องวัตสันของบริษัทไอบีเอ็มก็สามารถเอาชนะแชมป์รายการตอบคำถามจีโอพาร์ดีได้แบบขาดลอย นอกจากนี้ เครื่องเล่นเกมอย่าง Kinect ก็ใช้เทคโนโลยีของปัญญาประดิษฐ์ มาใช้ในการสร้างส่วนติดต่อกับผู้ใช้ผ่านทางการเคลื่อนไหวร่างกายใน 3 มิติเช่นกัน
คำนิยามของ AI แบ่งได้ 4 กลุ่ม ดังนี้
การกระทำคล้ายมนุษย์ Acting Humanly
– การสร้างเครื่องจักรที่ทำงานในสิ่งซึ่งอาศัยปัญญาเมื่อกระทำโดยมนุษย์
– สื่อสารได้ด้วยภาษาที่มนุษย์ใช้ เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ตัวอย่างคือ การแปลงข้อความเป็นคำพูด และ การแปลงคำพูดเป็นข้อความ
– มีประสาทรับสัมผัสคล้ายมนุษย์ เช่น คอมพิวเตอร์รับภาพได้โดยอุปกรณ์รับสัมผัส แล้วนำภาพไปประมวลผล
– เคลื่อนไหวได้คล้ายมนุษย์ เช่น หุ่นยนต์ช่วยงานต่าง ๆ อย่างการ ดูดฝุ่น เคลื่อนย้ายสิ่งของ
– เรียนรู้ได้ โดยสามารถตรวจจับรูปแบบการเกิดของเหตุการณ์ใด ๆ แล้วปรับตัวสู่สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้
การคิดคล้ายมนุษย์ Thinking Humanly
– กลไกของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความคิดมนุษย์ เช่น การตัดสินใจ การแก้ปัญหา การเรียนรู้
– ก่อนที่จะทำให้ AI คิดอย่างมนุษย์ได้ ต้องเรียนรู้ก่อนว่ามนุษย์มีกระบวนการคิดอย่างไร ซึ่งการวิเคราะห์ลักษณะการคิดของมนุษย์เป็นศาสตร์ด้าน cognitive science เช่น ศึกษาโครงสร้างสามมิติของเซลล์สมอง การแลกเปลี่ยนประจุไฟฟ้าระหว่างเซลล์สมอง วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางเคมีไฟฟ้าในร่างกายระหว่างการคิด ซึ่งจนถึงปัจจุบันเราก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่า มนุษย์เรา คิดได้อย่างไร
คิดอย่างมีเหตุผล Thinking rationally
– การศึกษาความสามารถในด้านสติปัญญาโดยการใช้โมเดลการคำนวณ
– การศึกษาวิธีการคำนวณที่สามารถรับรู้ ใช้เหตุผล และกระทำ
– ใช้หลักตรรกศาสตร์ในการคิดหาคำตอบอย่างมีเหตุผล
กระทำอย่างมีเหตุผล Acting rationally
– การศึกษาเพื่อออกแบบโปรแกรมที่มีความสามารถในการกระทำ หรือเป็นตัวแทนในระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ที่มีปัญญา
– พฤติกรรมที่แสดงปัญญาในสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น
– การเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ เช่น โปรแกรมเล่นเกมหมากรุก ที่จะทำให้คู่ต่อสู้แพ้ให้ได้
ตัวอย่างงานด้าน AI (ปัญญาประดิษฐ์)
– การวางแผน และการจัดตารางเวลาอัตโนมัติ autonomous planning and scheduling เช่น โปรแกรมควบคุมยานอวกาศระยะไกลขององค์การ NASA
– game playing (เกมส์ เพล์อิ่ง) เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ Deep Blue (ดีพบลู) ของบริษัทไอบีเอ็ม เป็นโปรแกรมเล่นเกมหมากรุก สามารถเอาชนะคนที่เล่นหมากรุกได้เก่งที่สุดคือ Garry Kasparov (แกรี่ คาสปารอฟ) ด้วยคะแนน 3.5 ต่อ 2.5 ในเกมการแข่งขันหาผู้ชนะระดับโลก เมื่อปี ค.ศ. 1997 , AlphaGo เป็นโปรแกรมเล่นหมากล้อม หรือ โกะ (GO) พัฒนาโดยกูเกิล ดีปไมด์ ของแอลฟาเบต อิงก์ ในกรุงลอนดอน ที่สามารถเอาชนะแชมป์โลกของมนุษย์ได้ และรวมถึง โปรแกรมทดสอบ หรือเป็นคู่ทดสอบ/ต่อสู้ กับมนุษย์ในเกมส์ต่างๆ ที่เรียกว่า บอท
– การควบคุมอัตโนมัติ autonomous control เช่น ระบบ ALVINN : Autonomous Land Vehicle In a Neural Network เป็นระบบโปรแกรมที่ทำงานด้านการมองเห็นหรือคอมพิวเตอร์วิทัศน์ computer vision system (คอมพิวเตอร์ วิชัน ซิสเต็ม) โปรแกรมนี้จะได้รับการสอนให้ควบคุมพวงมาลัยให้รถแล่นอยู่ในช่องทางอัตโนมัติ
– การวินิจฉัย diagnosis เป็นการศึกษาเรื่องสร้างระบบความรู้ของปัญหาเฉพาะอย่าง เช่น การแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ จุดประสงค์ของระบบนี้คือทำให้เสมือนมีมนุษย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาและคำตอบเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ
– หุ่นยนต์ robotics เช่น หุ่นยนต์ ASIMO ของฮอนด้า, หุ่นยนต์จิ๋วช่วยในการผ่าตัด, หุ่นสุนัขที่ช่วยเฝ้าบ้านและเป็นเพื่อนเล่น เป็นต้น
– การแก้โจทย์ปัญหา problem solving เช่น โปรแกรม PROVERB ที่แก้ปัญหาเกมปริศนาอักษรไขว้ ซึ่งทำได้ดีกว่ามนุษย์
AI ในโลกของภาพยนต์
จากจินตนาการสู่ความจริงอันใกล้ของ AI ในภาพยนต์เรื่องต่าง ๆ เช่น Terminator ,ทรานฟรอเมอร์, Surrogates, iRobot, Eagle eye เป็นต้น ซึ่งสื่อให้เห็นการทำงานของหุ่นยนตร์ที่มีปัญญา คิดได้เอง และสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ทั้งดีและไม่ดี เหมือนกับมนุษย์ที่มี ดีเลวปนกันไป…


บทสรุปของ AI
AI (เอไอ) คือ Software หรือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ถูกสร้างขึ้นมาช่วยมนุษย์ในระบบงานต่างๆ เพื่อลดการใช้แรงงานคน และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ตั้งแต่ระดับง่ายๆ เช่น Call Center ระบบ chat bot โต้ตอบคำถามกับลูกค้า ต่าง ๆ จนถึงระบบที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เช่น วิเคราะห์หุ้น หรือใช้ในการจัดการข้อมูล Big data เป็นต้น และในอนาคต AI จะสามารถมาแทนการทำงานของมนุษย์มากขึ้น เช่น การขับรถ หรือแม้กระทั่งเครื่องบินที่ซับซ้อนมากขึ้นได้ และขั้นสูงขึ้นไป เช่น การนำ AI ใส่ในเครื่องจักร หรือหุ่นยนต์ เพื่อให้หุ่นยนต์มีความสามารถ มีชีวิตเหมือนมนุษย์ สามารถทำสิ่งต่างๆแทนมนุษย์มากขึ้น…
ฉะนั้นการเรียนรู้ที่จะปรับตัว และเรียนรู้ที่จะใช้ AI ให้เป็นประโยชน์นั้นจะมีความสำคัญมากต่อกิจกรรมของมนุษย์ในอนาคต เช่นในด้านอุตสาหกรรม ธุรกิจต่างๆทำให้ธุรกิจนั้น ลดต้นทุน มีความแน่นอนแม่นยำ มีความได้เปรียบในการแข่งขันสูงขึ้น
เมื่อถามว่า ในอนาคต AI จะครองโลก หรือเป็นภัยคุกคามมนุษย์ เหมือนในภาพยนต์หลายๆเรื่องหรือไม่? ทั้งนี่ก็อยู่ที่ขอบเขตของการสร้าง การศึกษากระบวนการต่างๆของ AI ว่าอยู่ระดับใด และมนุษย์เองก็ต้องมีข้อจำกัดให้ให้สอดคล้องกับบริบทต่างๆ เพื่อให้ AI เป็นผู้ช่วยมนุษย์ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เหนือกว่ามนุษย์ …
อ้างอิง
il.mahidol.ac.th, mindphp.com, th.wikipedia.org