วันพุธ, ธันวาคม 4, 2024
Host Atom

ทองคำ (Gold) เป็นสิ่งที่มีค่าที่มนุษย์แสวงหามาครอบครองมานับพันๆปี ไม่ว่าเรื่องคุณสมบัติ ความสวยงาม สีสรรค์ที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ เจริญรุ่งเรือง มูลค่าของทองคำไม่เคยสูญหาย แม้เกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินหรือทางการเมือง เมื่อมนุษย์มีวิวัฒนาการทางอุตสาหกรรม เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ทองคำก็ยังเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมต่างๆ จากอดีตสู่ปัจจุบัน และในอนาคต.. ดังนั้น ทองคำ จึงเป็นสิ่งที่มีค่าที่มนุษย์นิยมและต้องการเสมอมา…

ทองคำ (Gold) คือธาตุเคมีที่มี สัญลักษณ์คือ Au (มาจากภาษาละตินว่า aurum) ความถ่วงจำเพาะ 19.33 g/cc มีจุด หลอมเหลวที่ 1064 องศาเซลเซียส จุดเดือด 2970 องศาเซลเซียส

คุณสมบัติของทองคำ

ทองคำเป็นโลหะมีค่าที่มีคุณสมบัติพื้นฐานที่ทำให้ทองคำโดดเด่นและเป็นที่ต้องการเหนือโลหะมีค่าชนิดอื่นๆ คุณสมบัติดังกล่าวได้แก่

ความงดงามเป็นมันวาว (Luster) สีสันที่สวยงามตามธรรมชาติผสานกับความมันวาวก่อให้เกิดความเป็นเอกลักษณ์และความงามที่เป็นอมตะแก่ทองคำ

ความคงทน (Durable) เนื่องจาก ทองคำ บริสุทธิ์จะไม่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ (Non-Oxidation) จึงทนต่อการผุกร่อน ไม่เกิดสนิม และ สีของทองจะไม่หมอง แม้ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม

ความหายาก (Scarce) การที่เราจะได้ทองคำมาสัก 1 ออนซ์ จะต้องถลุงก้อนแร่ที่มีทองคำอยู่เป็นจำนวนหลายตัน ดังนั้นด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงประกอบกับความยากในการได้มาจึงส่งผลให้ทองคำมีราคาแพงด้วย

นำกลับไปใช้ได้ (Re-Useable) ทองคำเหมาะต่อการนำมาทำเป็นเครื่องประดับเพราะมีความเหนียวและอ่อนนิ่มสามารถนำมาทำขึ้นรูปได้ง่าย สีสรรค์สวยงามไม่เหมือนใคร อีกทั้งยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่โดยการทำให้บริสุทธิ์ (purified) ด้วยการหลอมได้อีกโดยนับครั้งไม่ถ้วน

มีความเหนียว (Ductility) และความสามารถในการขึ้นรูป (Malleability) เนื่องจากทองมีความยืดหยุ่น (Elasticity) เป็นอันดับที่สองรองจากโลหะเงิน และจะยืดขยาย (Extend) เมื่อถูกตีหรือรีดในทุกทิศทางโดยไม่เกิดการปริแตก กล่าวคือ น้ำหนักของทองคำเพียง 2 บาท สามารถยืดออกเป็นเส้นลวดได้ยาวถึง 8 กิโลเมตร นอกจากนั้นทองคำยัง เป็นตัวนำไฟฟ้าและสะท้อนความร้อนได้ดีอีกด้วย

ทองคำที่ซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนกัน เราจะใช้หน่วยของน้ำหนักในการแลกเปลี่ยน เนื่องจาก รูปร่างและขนาดของทองคำ ไม่ตายตัว สามารถหลอมรวมกันหรือตัดแยกออกจากกันได้ บวกกับมูลค่าที่สูง การจะแลกเปลี่ยนซื้อขายกันเป็นชิ้น เป็นขนาด อาจทำให้ได้ปริมาณทองคำคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง

น้ำหนักของทองคำ ใช้หน่วยวัดอะไรบ้าง?

ทองคำในประเทศไทยเรา เรามักได้ยินคำว่า ทองคำ 1 บาท หรือ 5 บาท 10 บาท รวมถึงทองคำ 1 กิโล(กรัม) ซึ่งแน่นนอนว่า บ้านเราใช้หน่วย บาท และกรัม ด้วยในการชั่งน้ำหนักทองคำ ส่วนในโลกสากลและหน่วยวัดอื่นๆนั้นก็ที่นิยมใช้กัน ได้แก่

หน่วย กรัม (Gram: g) เป็นหน่วยมาตรฐานหน่วยสากลที่ใช้กันทั่วโลก ไม่ว่าแต่ละประเทศจะมีหน่วยวัดน้ำหนักเป็นอะไร ก็จะต้องเทียบค่ามาเป็นกรัมเสมอ
ทรอยออนซ์ (Troy Ounce : oz) หรือ ออนซ์ เป็นหน่วยน้ำหนักที่ใช้ในการกำหนดราคาซื้อขายกันในตลาดโลก ส่วนใหญ่จะใช้กันในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย
โทลา (Tolar) ใช้ในอินเดีย ปากีสถาน สิงคโปร์ และทางประเทศในแถบตะวันออกกลาง
ตำลึง (Tales) ใช้ในประเทศที่ใช้ภาษาจีน เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง
ชิ (Chi) ใช้ในประเทศเวียดนาม
ดอน (Don) ใช้ในประเทศเกาหลีใต้
บาท (Bath) ใช้ในประเทศไทย

ทองคำ 1 บาท หนักกี่กรัม?

ทองคำแท่ง 1 บาท น้ำหนักตามมาตรฐานคือ 15.244 กรัม
ทองรูปพรรณ 1 บาท น้ำหนักตามมาตรฐานคือ 15.16 กรัม

สาเหตุที่ทองคำแท่ง 1บาท มีน้ำหนักมากกว่าทองรูปพรรณ เมื่อเทียบเป็นกรัม ก็เพราะการทำทองรูปพรรณมีการสูญเสียเนื้อทองไปในกระบวนการแปรรูปนั่นเอง ทองคำแท่งกับทองรูปพรรณ นอกจากน้ำหนักจะต่างกันแล้ว ค่าพรีเมี่ยม กับค่ากำเหน็จ รวมถึงราคารับซื้อคืน ยังแตกต่างกันด้วย ขึ้นอยู่กับร้านค้าต่างๆจะกำหนดตามความเหมาะสม

ทองคำหน่วยต่างๆ เมื่อเทียบกับ กรัม (Gram: g)

ทองคำความบริสุทธิ์ 99.99% 1 กิโลกรัม เท่ากับ 32.1508 ทรอยออนซ์ ทองคำ 1 ทรอยออนซ์ มีน้ำหนักเท่ากับ 31.1034 กรัม และเมื่อแปลงน้ำหนักทองคำหน่วยต่างๆกับกรัมจะได้ดังนี้
ทองคำ 1 ตำลึง เท่ากับ 37.429 กรัม
ทองคำ 1 โทลา เท่ากับ 11.6638 กรัม
ทองคำ 1 ชิ เท่ากับ 3.75 กรัม
ทองคำ 1 ดอน เท่ากับ 3.75 กรัม

เปอร์เซ็นต์ทองคำแท่งมาตรฐาน นอกเหนือจากน้ำหนักแล้ว เปอร์เซนต์ทองคำก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อราคา และการนำไปใช้ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเครื่องประดับ

เปอร์เซนต์ทองคืออะไร? เปอร์เซนต์ทองคำ คือสัดส่วนระหว่างทองคำบริสุทธิ์กับโลหะบางชนิด เช่น นิกเกิล (Nickel) เนื่องจาก ทองคำบริสุทธิ์นั้น มีความอ่อนนิ่ม เกือบจะเหลว ทำให้การขึ้นรูป หรือทำเครื่องประดับ อาจมีการผิดรูป ดังนั้นจึงมีการนำโลหะอื่นมาเป็นส่วนผสม เพื่อให้เกิดความแข็ง คงคน เมื่อนำไปขึ้นรูปแบบต่างๆ ซึ่งการนำโลหะมาผสมทองคำนั้น จะมีเปอร์เซนต์ค่ามาตราฐานกำหนดไว้ ทองคำที่ผสมโลหะบางตามสัดส่วนที่กำหนด บางครั้งเราอาจเรียกว่าทอง K (karat) เช่น ทอง18k จะมีส่วนผสมของทองแท้ 75% กับ โลหะชนิดอื่นๆอีก25% เป็นต้น…

มาตราฐานทองคำมีดังนี้
99.99% เป็นมาตรฐาน ซื้อขาย สากลทั่วโลก
99.9% เป็นมาตรฐาน ซื้อขายในประเทศอินเดีย
99.5% เป็นมาตรฐาน ซื้อขายในประเทศแถบตะวันออกกลาง
99.0% เป็นมาตรฐาน ซื้อขายเฉพาะในประเทศฮ่องกง
96.5% เป็นมาตรฐาน ซื้อขายเฉพาะในประเทศไทย

การคำนวณหน่วยทองคำ หรือแปลงหน่วยทองคำ สามารถแปลงหน่วยทองคำจากโปรแกรม >> โปรแกรมแปลงหน่วยทองคำ

ข้อมูลบางส่วนจาก globlexgold, aagold-th

Tags: , ,