ดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index ( BMI ) คือ ค่าที่ใช้ชี้วัดความสมดุลของน้ำหนักตัว และส่วนสูง ซึ่งสามารถระบุได้ว่า ตอนนี้รูปร่างของคนคนนั้นอยู่ในระดับใด ตั้งแต่อ้วนมากไปจนถึงผอมเกินไป ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเตรียมการวินิจฉัยโรค ความเสียง และการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมต่อไป
ค่า BMI สามารถใช้บ่งบอกความเสี่ยงในการเกิดโรคบางอย่างได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด ระบบหัวใจ รวมไปถึงมะเร็งบางชนิด
อย่างไรก็ตาม ค่า ดัชนีมวลกาย (BMI) ไม่สามารถบอกน้ำหนักตัวตามเกณฑ์หรือปริมาณไขมันได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่นเรื่องของพันธุกรรม พฤติกรรมการกิน การใช้ชีวิต การออกกำลังกาย และอื่นๆ
ค่า ดัชนีมวลกาย อาจเรียกว่า ค่าความหนาของร่างกาย ใช้เป็นมาตรฐานในการประเมินภาวะอ้วนหรือผอมในผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งคำนวณได้จาก การใช้น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมและหารด้วยส่วนสูงที่วัดเป็นเมตรยกกำลังสอง ซึ่งใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ดังสูตรต่อไปนี้
สูตรคำนวณหาดัชนีมวลกาย
ดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม)/ส่วนสูง (เมตร)2
ตัวอย่าง เช่น ถ้าคุณมีน้ำหนัก 60 กิโลกรัม และสูง 170 ซม.
ดัชนีมวลกาย (BMI) = 60 / (1.70)2 = 20.76
จากตัวอย่างข้างต้น BMI 20.76 สำหรับคนไทย (ชาวเอเชีย) ก็จะอยู่ในช่วงของ 18.6 – 22.9 เป็นน้ำหนักที่เหมาะสม จัดอยู่ในเกณฑ์ปกติ
สำหรับตารางดัชนีมวลกายนี้สาเหตุที่จำเป็นต้องแยกระหว่างชาวอเมริกัน ยุโรป แอฟริกัน และชาวเอเชีย เนื่องจากคนเอเชียจะมีรูปร่างสรีระที่เล็กกว่าชาวอเมริกัน ยุโรป และแอฟริกันมาก จึงจำเป็นต้องปรับช่วงของดัชนีมวลกายให้ตรงกับโครงสร้างร่างกายของคนเอเชียเพื่อความถูกต้อง
จากข้อมูลดัชนีมวลกายองค์การอนามัยโลกทำการศึกษาพบว่าคนเอเชียที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 23 เป็นต้นไป จะมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นหรือแปลได้ว่าถ้าคุณน้ำหนักเกินก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
โปรแกรมคำนวณค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI คลิกที่นี่
ค่าดัชนีมวลกาย BMI
30.00 ขึ้นไป = อ้วนมาก
ค่อนข้างอันตราย เพราะเข้าเกณฑ์อ้วนมาก เสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงที่แฝงมากับความอ้วน หากค่า BMI อยู่ในระดับนี้ จะต้องระวังการรับประทานไขมัน และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหากเลขยิ่งสูงกว่า 40.0 ยิ่งแสดงถึงความอ้วนที่มากขึ้น
25.0 – 29.9 = อ้วน
อ้วนในระดับหนึ่ง ถึงแม้จะไม่ถึงเกณฑ์ที่ถือว่าอ้วนมาก ๆ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มากับความอ้วนได้เช่นกัน ทั้งโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ดังนั้นต้องพยายาม ออกกำลังกาย และควบคุมอาหาร ลดน้ำหนักบ้าง
23.0 – 24.9 = น้ำหนักเกิน
พยายามเพื่อลดน้ำหนักให้เข้าสู่ค่ามาตรฐาน เพราะค่า BMI ในช่วงนี้ยังถือว่าเป็นกลุ่มผู้ที่มีความอ้วนอยู่บ้าง แม้จะไม่ถือว่าอ้วน แต่หากประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ก็ถือว่ายังมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ
18.6 – 22.9 = น้ำหนักปกติ เหมาะสม
น้ำหนักที่เหมาะสม จัดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ห่างไกลโรคที่เกิดจากความอ้วน และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ น้อยที่สุด ควรพยายามรักษาระดับค่า BMI ให้อยู่ในระดับนี้ให้นานที่สุด
น้อยกว่า 18.5 = ผอมเกินไป
น้ำหนักน้อยกว่าปกติก็ไม่ค่อยดี หากคุณสูงมากแต่น้ำหนักน้อยเกินไป อาจเสี่ยงต่อการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอหรือได้รับพลังงานไม่เพียงพอ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลียง่าย การรับประทานอาหารให้เพียงพอ และการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อสามารถช่วยเพิ่มค่า BMI ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้
………………….
อ้างอิง : honestdocs.co , bangpakokhospital.com, ภาพ Pixabay